โลหิตจาง 4 สาเหตุและการบรรเทาป้องกันอย่างถูกต้องเหมาะสม
อาการ “โลหิตจาง”… หรือที่เรียกกันติดปากทั่วไปว่าโรคโลหิตจาง เป็นอาการของคนที่มี “เลือดน้อย” ไม่เข้มข้น มีปริมาณเม็ดเลือดแดงที่น้อย จนไม่เพียงพอ ที่จะนำสารอาหาร และออกซิเจน ไปเลี้ยงดูตามส่วนต่างๆอย่างเหมาะสม ทางการแพทย์จะหมายถึงการที่ระดับค่าเฮโมโกลบินในเลือดต่ำกว่า 13 กรัม/เดซิลิตรในผู้ชาย หรือ 12 กรัม/เดซิลิตรในผู้หญิง ถ้าคิดเป็นค่า Hematocrit หรือความเข้มข้นของเม็ดเลือดแดงต่ำกว่า 39 และ 36 เปอร์เซ็นต์ในผู้ชายและผู้หญิงตามลำดับ เมื่อเกิดอาการ โลหิตจาง มักทำให้อวัยวะต่างๆทำงานได้อย่างไม่เต็มที่ จนหลายครั้งมักทำให้เกิดอาการหน้ามืดขึ้นมาหลายครั้งในหนึ่งวัน จนสร้างปัญหาต่อการใช้ชีวิตอย่างมากเลยทีเดียว ในวันนี้ ทีมงาน saraboom.com อยากจะขอขันอาสา พาคุณผู้อ่านทุกท่าน ไปทำความรู้จักแบบเจาะลึกกับอาการ โลหิตจาง ว่ามันมีที่มา ที่ไปอย่างไร แล้วควรที่จะทำการรับมือด้วยวิธีการง่ายๆ อย่างการทานอาหารอย่างเหมาะสมเช่นใด จึงจะสามารถช่วยทำให้อาการ โลหิตจาง เลือนหายกลายเป็นเพียงอดีตไป
เจาะลึก 4 ปัญหาโลหิตจางเกิดขึ้นจากสาเหตุใดกันได้บ้าง?
1.โลหิตจางจากการสูญเสียเลือด
โดยจะมี 2 กรณี คือ มีเลือดออกจากทางเดินอาหารซึ่งจะเห็นเป็นถ่ายอุจจาระมีเลือดปนหรือถ่ายดำ แต่ถ้าออกครั้งละน้อยๆ แต่ออกบ่อยอาจไม่เห็นว่าถ่ายอุจจาระมีเลือดปนหรือถ่ายดำ แต่จะมีโลหิตจางได้ โรคที่ทำให้ถ่ายมีเลือดปนที่พบบ่อย ได้แก่ โรคกระเพาะอาหาร โรคริดสีดวงทวาร โรคหลอดเลือดโป่งพอง โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นต้น สาเหตุที่พบบ่อยอีกอย่างคือ การรับประทานยาแก้ปวดแก้เมื่อยเป็นประจำแล้วยาระคายกระเพาะอาหารทำให้อักเสบ มีแผล เกิดเลือดออกได้
อีกกรณีจะเกิดขึ้นกับคุณผู้หญิงคือ การเสียเลือดจากมีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด ถ้าถึงวัยหมดประจำเดือนแล้วมีเลือดออกทางช่องคลอด ต้องรีบไปตรวจทันทีเนื่องจากอาจเกิดจากโรคมะเร็งได้
2.โลหิตจางจากการขาดสารอาหาร
โดยเฉพาะผู้สูงอายุบางรายที่อาจรับประทานอาหารไม่ครบ 5 หมู่ ซึ่งอาจเกิดจากการที่เบื่ออาหาร มีโรคประจำตัวบางอย่าง เลือกรับประทานอาหาร หรือปัญหารายได้ไม่เพียงพอ อาจทำให้โลหิตจางได้
3.โลหิตจางจากโรคเรื้อรัง
เช่น ไตวาย โรคตับ ข้ออักเสบ เป็นต้น ทำให้ร่างกายสร้างเม็ดเลือดได้น้อยกว่าปกติ จึงทำให้อยู่ในภาวะโลหิตจางในที่สุด
4.โลหิตจางจากโรคอื่นๆ
เช่น โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง โรคไขกระดูกเสื่อม เป็นต้น
อาหารอะไรบ้างที่สามารถทานเพื่อช่วยบรรเทา และป้องกันอาการโลหิตจางอย่างได้ผล
แนวทางการรักษาโลหิตจางประกอบด้วยการรักษาทั่วไป การให้ยาตามอาการแสดง รวมทั้งการให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารบำรุงเลือด ซึ่งเป็นวิธีบำบัดรักษาที่ได้ผลอย่างมากโดยเฉพาะในระยะยาว และแน่นอนวันนี้เราได้นำข้อมูลเกี่ยวกับอาหารบำรุงเลือด สำหรับผู้ป่วยโลหิตจางโดยเฉพาะ มาให้ได้ทราบกัน
1.อาหารป้องกันบรรเทาโรคโลหิตจาง: ข้าวเสริมธาตุเหล็ก
ได้แก่ ข้าวหอมนิล และข้าวสายพันธุ์ 313 ปรากฏว่า ร่างกายสามารถดูดซับธาตุเหล็กได้ 6-20% สำหรับข้าวเสริมธาตุเหล็กแบบไม่ขัดสี และร้อยละ 17-50 สำหรับข้าวขัดสี ทั้งนี้ จะต้องรับประทานกับอาหารอื่นๆที่อุดมไปด้วยวิตามินซี เช่น แกงส้ม น้ำพริกมะขาม เป็นต้น
2.อาหารป้องกันบรรเทาโรคโลหิตจาง: ตับลูกวัว
ซึ่งพบว่าเป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับผู้มีภาวะโลหิตจาง เนื่องจากประกอบด้วยธาตุเหล็กและวิตามินบีในปริมาณสูง ซึ่งสามารถใช้ได้กับผู้มีภาวะโลหิตจางทุกประเภท
3.อาหารป้องกันบรรเทาโรคโลหิตจาง: ผักสีเขียวเข้ม
จัดเป็นอาหารที่เหมาะสำหรับผู้มีภาวะโลหิตจางเช่นกัน เนื่องจากเป็นแหล่งของธาตุเหล็ก กรดโฟลิก และคลอโรฟิลล์ (คลอโรฟิลล์เป็นสารที่มีโมเลกุลคล้ายกับเฮโมโกลบินในเม็ดเลือดแดง)
จากข้อมูลในข้างต้น... จะเห็นได้ว่าอาหารที่ผู้มีภาวะโลหิตจางควรรับประทานก็คือ อาหารที่ให้ “ธาตุเหล็ก” สูง ซึ่งนอกจากสารอาหารอย่างธาตุเหล็กแล้วยังควรได้รับโปรตีนมากๆ ซึ่งมีมากใน ตับ ไต เนื้อสัตว์ เมล็ดธัญพืช เช่น ถั่ว งา เมล็ดฟักทอง ลูกเดือย เป็นต้น เพียงแค่การรับประทานอาหารเหล่านี้ให้มีความเหมาะสม ครบถ้วน เพียงเท่านี้ การป้องกัน และบรรเทาอาการ โลหิตจาง ก็จะไม่ใช่เรื่องที่ยากจนเกินความสามารถของคุณผู้อ่านแต่อย่างใดอย่างแน่นอนครับ